วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน



พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ครั้งหนึ่งเคยก้าวสู่ตำแหน่งสูงส่งในกองทัพ เป็น "ผู้บัญชาการทหารบก" อันเป็นวาสนาที่มีนายทหารน้อยนักกล้าจะฝันถึง ทว่าตำแหน่งอันยิ่งใหญ่นั้นกลับนำมาซึ่งแรงกดดันให้เขาต้องทะยานต่อไปในเส้นทางอำนาจ อาจจะเป็นเพราะแรงทะเยอทะยานในใจของเขาเอง หรืออาจจะเป็นเพราะบางคำสั่งที่ปฏิเสธไม่ได้ หรือรวมๆ กันไปทั้งสองอย่าง



เมื่อประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.อ.สนธิ ผู้บัญชาการทหารบก นำกองทัพทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาล ตั้งตัวเองเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งรัฐบาลขึ้นมาครองอำนาจ หลังจากนั้น ก่อเกิดวิกฤตมากมายในสังคมไทย จากการต่อสู้ของฝ่ายที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยกับฝ่ายที่ยืนอยู่ข้างอำนาจแบบเผด็จการ


ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตายมากมายทั้ง 2 ฝ่าย ชะตากรรมมนุษย์มักประหลาดเหลือเชื่อเสมอมา ผู้นำอำนาจเผด็จการก่อการปฏิวัติแทบไม่ได้รับมอบบารมีอันใดเลยจากกลุ่มผู้นิยมอำนาจเผด็จการ เมื่อพ้นจากเก้าอี้ใหญ่ในกองทัพ พล.อ.สนธิต้องหันเข้าแอบอิงฝ่ายประชาธิปไตยนำทุนรอนที่เหลืออยู่บ้างมาตั้งพรรคการเมือง ด้วยเสียงเล่าลือว่า เพื่อเกาะขอนไม้สุดท้ายแห่งอำนาจไว้ป้องกันตัวเองจากผลแห่งพฤติกรรมที่ผ่านมา



จากผลของการเมืองที่ทำลายล้างกันรุนแรงจนก่อให้เกิดความคั่งแค้นระอุในทุกฝ่ายที่ถูกกระทำ แต่ดูเหมือนว่าแค่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็น ส.ส.ไม่กี่คน ไม่ได้ทำให้รู้สึกปลอดภัยจากการตอบโต้ล้างแค้น ที่สุดแล้วทางออกแห่งการรักษาตัวของ พล.อ.สนธิเลือกเดินคืออาสาเป็นผู้ถือธงนำการปรองดองในนามประธานกรรมาธิการ เพื่อศึกษาแนวทางการปรองดอง ที่อาจจะนำมาซึ่งการโละทิ้งความผิด


ซึ่งอาจจะหมายถึงพฤติกรรมของเขาด้วย การเยียวยาอดีตของตัวเองให้ตัวอยู่ในปัจจุบันได้อย่างปลอดภัยสำหรับอดีตผู้นำปฏิวัติทำได้แค่นั้น ทว่าเป็นแค่นั้นที่ต้องแลกกับเกียรติยศ เกียรติภูมิมหาศาล เกียรติแห่งชีวิตที่สร้างมาตั้งแต่หนุ่มถึงวัยบั้นปลายถูกนำไปชดใช้จนแทบไม่เหลือหลอ



ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพูดถึงแนวทางการปรองดองที่เขาเป็นประธานคณะกรรมาธิการผู้นำเสนอ มีการอภิปรายโจมตีกันอย่างดุเดือดเข้มข้น ขุดรื้ออดีตของแต่ละฝ่ายมาโจมตีกันชนิดไม่ยอมให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเหลือซากแห่งความดีงาม


ผู้ที่โดนหนักสุดกลับเป็น พล.อ.สนธิ โดนจากทั้งสองฝ่าย โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งจากพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวหาว่า เป็นต้นเหตุของการเปิดทางให้อำนาจนอกระบบเข้ามายึดครองประเทศ จนนำมาซึ่งการเข่นฆ่าประชาชน โดนทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มองว่าถูกซื้อตัวไปรับใช้นักการเมืองฝ่ายที่ต้องการนิรโทษกรรมตัวเอง



การชี้แจงของ พล.อ.สนธิเป็นไปอย่างกล้อมแกล้มขอไปที สะท้อนถึงอาการหมดสภาพ ไร้ซึ่งความยอมรับนับถือไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายใด หากว่านี่คือบทอวสานของปฏิบัติการ "ลับ ลวง พราง" น่าจะเป็นอวสานที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะบันทึกไว้ และให้บทสรุปได้ชัดเจนยิ่ง ในชะตากรรมของผู้นำปฏิวัติในยุคสมัยที่ทั้งโลกมุ่งเดินหน้าไปในวิถีประชาธิปไตย


ใครที่เรียนรู้บทเรียนนี้ไปเตือนใจตัวเอง จะคือผู้ที่ยืนอยู่ได้ แต่ใครที่ยังหลงว่า ยังเผด็จการได้ในประเทศไทย เขาน่าจะเป็นผู้เดินซ้ำในตำนานอันสะบักสะบอมของ พล.อ.สนธิ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น